คุณสมบัติของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
- เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย อายุระหว่าง 20-45 ปี มีความสูงไม่ต่ำกว่า 160 ซม.
- มีร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง ไม่เป็นโรคติดต่อที่สังคมรังเกียจ และไม่พิการทุพพลภาพ
- มีความรู้ชั้น ป.6 หรือเทียบเท่าขึ้นไป ยกเว้นบุคคลที่เคยเป็นทหาร ตำรวจ อาสาสมัครหรือได้รับการอบรมความรู้เกี่ยวกับงานด้านรักษาความปลอดภัยอย่างชำนาญ
- มีความประพฤติเรียบร้อย และไม่เคยต้องโทษคดีอาญาใด ๆ มาก่อน โดยเฉพาะคดียาเสพติด ลักทรัพย์
- ต้องมีเอกสารทางราชการ เช่น บัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน วุฒิการศึกษา เป็นต้น
- มีความซื่อสัตย์สุจริต
- มีความเลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตย
- ต้องผ่านหลักสูตรอบรมของบริษัทฯ ก่อน
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะผ่านฝึกอบรม
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทุกนาย ก่อนออกประจำจุดเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามหน่วยงานต่างๆ จะต้องได้รับการปฐมนิเทศ(ฝึกอบรม)จากฝ่ายปฏิบัติการ ดังนี้
- ลักษณะของการปฏิบัติงานในหน่วยงานต่างๆ เช่น บริษัทฯ ห้างร้าน โรงงาน และสถานที่ต่างๆ ที่มี ลักษณะการปฏิบัติงานแตกต่างกันอย่างไร แต่ละสถานที่ควรจะปฏิบัติอย่างไร
- การควบคุมเขตรับผิดชอบและการตรวจค้น หรือการสังเกตุการณ์ต่าง ๆ รอบ ๆ บริเวณเขตรับผิดชอบ
- การควบคุม แก้ไข การแจ้งเหตุ และการระงับเหตุการณ์ต่างๆ ตามความเหมาะสม
- การใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ถังดับเพลิง อาวุธประจำกาย เป็นต้น
- มารยาทในการปฏิบัติหน้าที่ การแสดงความเคารพและปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างหรือผู้บังคับบัญชาโดยเคร่งครัด
เครื่องแบบและอุปกรณ์เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
- กางเกง
- เสื้อฟาติก
- เสื้อยีดคอกลมสีขาว
- สายนกหวีดพร้อมนกหวีด
- หมวกแก็ป
- กุญแจมือพร้อมซอง
- ไฟฉายพร้อมซอง
- ลิ้วพร้อมซอง
- เข็มขัดสนาม
- เข็มขัดอ่อน
- ถุงเท้า
- รองเท้า
- ชิดเท้า
- เครื่องหมายอาร์ม
- เสื้อกันฝน
- รองเท้าบู๊ตกันน้ำ
- เสื้อสะท้อนแสง
หลักการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเบื้องต้น
- บทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
- การรักษาความปลอดภัย
- ความปลอดภัยในการทำงาน และอุปกรณ์ความปลอดภัย
- บัตรผ่าน และใบอนุญาต
- การควบคุมการเข้า-ออก
- การตรวจบุคคล และยานพาหนะ
- การตรวจเช็ควัสดุอุปกรณ์ เข้า-ออก
- การดับเพลิง และอุปกรณ์ในการดับเพลิง
- การอำนวยการจราจร
- การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- การสังเกตุจดจำ
- การเขียนรายงาน
การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
การอบรมเบื้องต้น บริษัทฯ จะทำการฝึกอบรมเบื้องต้นก่อนการปฏิบัติงาน 3 วัน ในหัวข้อที่สำคัญเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ และการฝึกภาคสนาม
การอบรมในหน่วยงาน เพื่อฟื้นฟูสมรรถนะและเพิ่มพูนทักษะวิชาชีพความรู้ทั้งวิธีปฏิบัติ และจัดการกับอุปสรรคปัญหาที่เกิดขึ้นประจำวัน อบรมเดือนละ 1 ครั้ง
การอบรมพิเศษ จัดเจ้าหน้าที่พิเศษฝึกอบรมเป็นการเฉพาะระหว่างปฏิบัติงาน เช่น การต่อต้านการจลาจล การวางเพลิง การอพยพ หรือจัดสุนัขสงครามทำการดมกลิ่น เป็นต้น
หลักสูตรการฝึกอบรม
ทางบริษัทฯ จัดให้มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ตามหลักสูตรดังต่อไปนี้
- ความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบของบริษัทฯ และระเบียบวินัยทั่วไป
- ความรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาเบื้องต้น และการประชาสัมพันธ์
- ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันตัวเบื้องต้น และการป้องกันการโจรกรรมต่าง ๆ
- ความรู้เกี่ยวกับการรายงานเหตุการณ์ และรักษาสถานที่เกิดเหตุ
- ความรู้เกี่ยวกับการบรรเทาสาธารณภัย และการใช้เครื่องมือดับเพลิง
- ความรู้เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือสื่อสาร และการใช้สัญญาณบอกเหตุ
- ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในด้านการรักษาความปลอดภัย และการแก้ไขปัญหาต่างๆ
- ความรู้เกี่ยวกับการสังเกตุจดจำบุคคล และยานพาหนะ
คำสั่งปฏิบัติการ
บริษัทฯ จะจัดพิมพ์กฎระเบียบ คำสั่ง และหน้าที่ในการปฏิบัติการประจำทุกจุด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานได้ถูกต้อง เช่นมีรายชื่อบุคคลและหน่วยงาน หรือแผนผังการปฏิบัติงานในกรณีที่เร่งด่วนหรือฉุกเฉิน
เริ่มงานก่อนการรับมอบ
เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ภายหลังที่ได้รับการว่าจ้างไม่น้อยกว่า 15 วัน บริษัทฯจะจัดกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มาฝึกอบรมก่อนการปฏิบัติงานจริงตามสัญญา 1 วัน โดยไม่คิดค่าบริการ
หน้าที่และความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
หน้าที่โดยทั่วไป เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมีหน้าที่ปกป้องดูแลชีวิตและทรัพย์สินของผู้ว่าจ้าง ไม่ให้ได้รับความเสียหาย รวมทั้งการป้องกันอัคคีภัย ผู้บุกรุกเข้าไปในเขตหวงห้าม ป้องกันการโจรกรรมและอาชญากรรม การสูญเสียอื่น ๆ ตลอดจนความเสียหายต่าง ๆ ในอันที่จะทำให้ผู้ว่าจ้างต้องสูญเสียผลประโยชน์ไป ทั้งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ว่าจ้างและเจ้าหน้าที่ของผู้ว่าจ้างตามสมควร ตามความเหมาะสม
หน้าที่ความรับผิดชอบโดยทั่วไปและระเบียบข้อบังคับ
- เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในจุดหรือบริเวณที่กำหนดให้
- เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จะละทิ้งหน้าที่ไปก่อนที่จะมีผู้มาเข้ารับเวรต่อเนื่องไม่ได้ ต้องรอจนกว่าจะมีผู้ที่มารับเวรก่อน จึงจะออกไปจากสถานที่ได้
- เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จะต้องมาถึงจุดที่ทำงานก่อนเวลาทำงาน (อย่างน้อย 15 นาที) เพื่อรับมอบงาน
- เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งที่ทางบริษัทฯ และผู้ว่าจ้าง กำหนดเท่านั้น
- เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตื่นตัว รวดเร็ว และพร้อมที่จะเผชิญกับ เหตุการณ์ทุกรูปแบบ
- ห้ามบุคคลภายนอกที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงาน เข้ามาในสถานที่ทำงานของผู้ว่าจ้าง
- ขณะปฏิบัติหน้าที่จะต้องแต่งเครื่องแบบให้เรียบร้อย ถูกต้องตามระเบียบเสมอ
- เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จะต้องไม่เสพสุราหรือของมึนเมาในขณะปฏิบัติหน้าที่ หรือก่อนเข้ารับหน้าที่
- เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะต้องปิดประตูทางเข้า-ออก และล็อคให้เรียบร้อยทุกครั้ง
- ห้ามมิให้ละเลยการตรวจค้นสำหรับจุดที่มีการตรวจค้น
- ห้ามละเลยหรือหลีกเลี่ยงงานที่รับผิดชอบ
- ห้ามจับกลุ่มคุยกันในเวลาทำงาน
- ห้ามขัดคำสั่งอันชอบของผู้บังคับบัญชา
- ห้ามเล่นการพนันในสถานที่ทำงานทั้งในขณะปฏิบัติหน้าที่หรือนอกเวลาปฏิบัติหน้าที่
- ห้ามละทิ้งหน้าที่ในขณะปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่มีเหตุอันควร
- ห้ามอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ ในขณะปฏิบัติหน้าที่
การเฝ้าดูแลสถานที่
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา ห้ามมิให้บุคคลภายนอกซึ่งมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องไปในบริเวณสถานที่ผู้ว่าจ้าง หรือผ่านเข้าไปในเขตหวงห้าม เว้นเสียแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้ว่าจ้างเสียก่อน
หากสงสัยไม่สามารถตัดสินใจได้ให้สอบถามจากทางผู้ว่าจ้างเสียก่อน หรืออาจสอบถามจากหัวหน้างานก่อนก็ได้
ขั้นตอนการปฏิบัติงาน
- ถามชื่อ ที่อยู่ ธุระ ต้องการพบใครใช้เวลานานเท่าใด
- ขอดูบัตรประชาชน,ใบขันขี่,บัตรข้าราชการหรือบัตรอื่น ๆ ที่สามารถใช้เป็นหลักฐาน ในการแสดงตนได้
- หากมีการกำหนดให้บันทึกหลักฐานในสมุดบันทึกผ่าน เข้า-ออก ก็ให้จดบันทึกหรือลงหลักฐานไว้ให้เรียบร้อยและแลกบัตร VISITOR ให้กับผู้มาติดต่อ
- ถ้าหากสงสัยอาจให้มีการเซ็นชื่อในสมุดบันทึกการผ่าน เข้า-ออก พร้อมตรวจสอบลายเซ็นกับหลักฐานแสดงตัวที่นำแสดงให้ถูกต้องตรงกันก่อน
- หลังจากที่ตรวจสอบเสร็จแล้วจะต้องแจ้งให้ผู้ที่ถูกระบุว่าต้องการเข้าพบทราบเสียก่อน หากอนุญาตให้เข้าพบได้จึงจะอนุญาตให้เข้าไปได้
- เมื่อผู้มาติดต่อเสร็จธุระแล้วกลับออกไปก็จะคืนบัตร VISITOR ให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
การรายงานเหตุการณ์
- เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จะต้องรายงานเหตุการณ์ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์สำคัญ
- เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จะต้องเขียนรายงานเหตุการณ์ (ตามแบบฟอร์มรายงานเหตุการณ์) ไว้เป็นหลักฐานทุกครั้งที่มีเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่ควรจะต้องรายงานหรือ ตามระเบียบคำสั่งที่กำหนดไว้ ในสถานที่นั้น ๆ
- แบบรายงานเหตุการณ์จะต้องมีสำเนาแนบทุกครั้ง ใบหนึ่งส่งให้กับผู้ว่าจ้าง อีกใบหนึ่งให้กับสายตรวจหรือบริษัทแล้วแต่กรณี
- การรายงานเหตุการณ์ หากเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งและมีผลกระทบถึงบริษัทฯ จะต้อง แจ้งให้ผู้ว่าจ้าง หรือบริษัทฯ ทราบโดยเร็ว เช่น โทรศัพท์, ฯลฯ
การปฏิบัติเกี่ยวกับมีผู้บุกรุก
- ถ้าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทราบ หรือสงสัยว่ามีผู้บุกรุกเข้ามาในสถานที่ของผู้ว่าจ้าง จะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบโดยเร็ว และอย่าให้ผู้บุกรุกรู้ตัว จะต้องเฝ้าดูไม่ให้ผู้บุกรุกคลาดสายตาและควรบันทึกรูปร่างลักษณะต่าง ๆ ของผู้บุกรุกไว้ด้วย เช่น เพศ ความสูง อายุ สีผิว ทรงผม ลักษณะใบหน้า หู ตา จมูก ปาก การแต่งกาย ท่าทางการเดิน สำเนียงการพูด
- ถ้าผู้บุกรุกมียานพาหนะเข้ามาให้บันทึกชนิดของยานพาหนะ ทะเบียน ยี่ห้อ สีหรือตำหนิอื่นๆไว้
- แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ให้เข้ามาระงับเหตุ ดำเนินการตามกฎหมาย
การดำเนินการของบริษัท
บริษัทฯ มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ อยู่ปฏิบัติงานโดยต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อคอยรับข้อมูลและปัญหาต่างๆ จากหน่วยงาน กับได้จัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไว้ประจำบริษัทฯ เพื่อทดแทนกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ขาด หรือมีเหตุการณ์ฉุกเฉินอื่นใดตามหน่วยงานต่างๆ
การตรวจการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
ทางบริษัทฯ มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการได้แก่ สายตรวจ สายตรวจพิเศษ (ทหาร–ตำรวจ) และฝ่ายบริการเข้าร่วมตรวจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ตามหน่วยงานต่างๆ เพื่อติดตามผลการปฏิบัติงาน และพัฒนาปรับปรุงแก้ไขระบบปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้น โดยจะคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของผู้ว่าจ้างเป็นสำคัญ
การปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุวางระเบิดและพบวัตถุต้องสงสัย
กรณีตรวจค้นหรือพบวัตถุต้องสงสัย (ไม่แน่ใจว่าเป็นระเบิดหรือไม่ )
- ทำการถามหาเจ้าของวัตถุต้องสงสัย รายงานให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นทราบ
- เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต้องทำการบันทึกประจำวัน (วัน/เวลา/สถานที่ ) ไว้เป็นหลักฐาน
- ห้ามไม่ให้ผู้ใด เข้าไปในพื้นที่และจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเฝ้าสถานที่เกิดเหตุ
- ถ้าขู่วางระเบิด เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นทราบโดยทันที
- แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มาตรวจสอบโดยเร็ว
การปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้
- เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต้องทำการดับเพลิงในทันทีที่พบเห็นเพลิงไหม้
- ถ้าไม่สามารถดับเพลิงได้ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต้องแจ้งหัวหน้าหน่วยตามลำดับชั้นและแจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยด่วน หรือ กดสัญญาณเตือนภัย (ถ้ามี)
- จัดการจราจรกันบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องให้ออกไป เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับรถดับเพลิง หรือเจ้าหน้าที่ดับเพลิงในการปฏิบัติหน้าที่
- ปิดประตูหน้าต่างทุกบาน เพื่อไม่ให้ไฟลุกลามมากยิ่งขึ้น
- บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับการเกิดเหตุ ไว้เป็นหลักฐาน